ข้อมูลการดำเนินงาน

การจัดการองค์ความรู้

ลิงค์ที่น่าสนใจ

ผู้เข้าชมเว็บไซต์

ผู้ชม
4
เนื้อหา
779
เนื้อหาที่เปิดอ่าน
1537818

รณรงค์ประชาสัมพันธ์คลอดก่อนกําหนด

รณรงค์ประชาสัมพันธ์คลอดก่อนกําหนด


แนวคิดหลักภายใต้แคมเปญ ตอนที่ 1 อันตรายของการคลอดก่อนกำหนด
เมื่อพบภาวะแทรกซ้อนในทารกเกิดก่อนกำหนด จะส่งผลให้ทารกรายนั้นต้องได้รับการดูแลต่อเนื่องมากกว่าทารกครบกำหนด เช่น ทารกมีโรคปอดเรื้อรังบางรายต้องใช้เครื่องให้ออกซิเจนตลอดเวลา อย่างน้อย 6 เดือน ถึง 2 ปี โรคจอตาเจริญเติบโตผิดปกติในทารกเกิดก่อนกำหนด ทำให้เสี่ยงต่อการมีสายตาเลือนลางหรือตาบอดหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม ทารกมีภาวะเลือดออกในโพรงสมองอาจมีผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโต หากเป็นโรคลำไส้เน่าเปื่อยและได้รับการผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนตายออกไป อาจไม่สามารถกินนมได้ช่วงเวลาหนึ่ง คุณแม่กลุ่มนี้จึงมักมีความเครียดสูง กลัวลูกเสียชีวิต ไม่แข็งแรงสมบูรณ์ มีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งหากเครียดมากก็อาจทำให้คุณแม่เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด รับประทานอาหารได้น้อยลง ไม่ดูแลตัวเอง นอกจากนี้การที่ทารกมีอายุครรภ์น้อยมากๆ คุณแม่ก็อาจไม่สามารถให้นมบุตรได้เอง ส่งผลให้การสร้างน้ำนมลดลง ต้องเปลี่ยนมาใช้นมผสมทดแทน เป็นต้น

แนวคิดหลักภายใต้แคมเปญ ตอนที่ 2 ฝากครรภ์เร็วปลอดภัยกว่า
การที่หญิงตั้งครรภ์เข้ามาฝากครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์แรก จะนำไปสู่การยืนยันอายุครรภ์ที่ถูกต้อง ได้รับการประเมินความเสี่ยงจากแพทย์เพื่อรักษาและป้องกัน หากมาช้ากว่าอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ อาจทำให้การคำนวณอายุครรภ์ผิดพลาด ไม่สามารถกำหนดอายุครรภ์เมื่อครบ 37 สัปดาห์ ได้ นอกจากนั้นโอกาสที่จะได้รับการดูแลรักษาโรคหรือภาวะแทรกซ้อนอาจล่าช้าออกไป เพราะผู้หญิงหลายคนอาจมีความเสี่ยงซ่อนอยู่ เมื่อตั้งครรภ์อาจมีผลต่อสุขภาพของตนเอง เช่น ฟันผุ โลหิตจาง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือ ประวัติการผ่าตัดคลอด ผ่าตัดมดลูกและปีกมดลูกประวัติความเจ็บป่วยในพ่อ-แม่-พี่น้อง-ครอบครัว ก็อาจมีผลต่อบุตรในครรภ์ได้ ควรสร้างจิตสำนึกให้ไปพบแพทย์เมื่อทราบวาสตั้งครรภ์ เพื่อให้แพทย์ค้นหาความเสี่ยง และความเจ็บป่วยในคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
แนวคิดหลักภายใต้แคมเปญ ตอนที่ 3 ชีวิตลูกอยู่ในมือแม่ (พฤติกรรมของแม่)
จากการศึกษาข้อมูลงานวิจัย พบว่า หญิงเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดเป็นหญิงกลุ่มวัยทำงานที่มีหลากหลายอาชีพ ได้แก่ ค้าขาย เกษตรกรรม รับจ้าง เป็นต้น ในขณะที่อีกบทบาทหนึ่ง คือ แม่บ้าน ตั้งแต่ ล้างจาน ทำความสะอาดบ้าน หุงข้าว ทำกับข้าว ซักผ้าและรีดผ้า เป็นต้น การเปลี่ยนท่านั่งยองเป็นยืนบ่อยครั้ง หรือเดินขึ้นบันไดหลายครั้งต่อวัน หากมีบุตรที่ต้องดูแล หรือผู้ป่วยติดเตียง ก็มีความเหนื่อยล้ามากขึ้น หากเป็นหญิงทำงานการเดินทางมาทำงานไกลทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซด์หรือจักรยาน การยืนโหนราวบนรถเมล์หรือรถไฟฟ้าขณะเดินทางที่ต้องเกร็งตัวเมื่อรถเลี้ยว หรือวิ่งอยู่บนถนนที่ขรุขระ อาจทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อบุตรในครรภ์ได้ อันนี้ไม่นับรวมกับพฤติกรรมขณะทำงาน เช่น การกลั้นปัสสาวะ การนั่งทำงานนานๆ หรือ ความเครียดจากการทำงาน
คุณสุพาพร แสนศรี พบว่า หญิงตั้งครรภ์จะมีการเผชิญความเครียดหลายด้าน เช่น ด้านกายภาพ แสง เสียง ความร้อน ความเย็น ด้านเคมี ด้านชีวภาพ ด้านการเคลื่อนไหวและการยืน และด้านจิตวิทยาสังคม สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความเครียด เหนื่อยล้า ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และยังทำให้มีอาการไม่สุขสบาย ได้แก่ เวียนหัว ปวดศีรษะ ปวดหลัง ขาบวม อารมณ์หดหู่ เครียดหงุดหงิด เป็นต้น นำไปสู่การแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักน้อย
“หญิงตั้งครรภ์สามารถปฏิบัติงานและใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด โดยปรับเหมาะสมตามอาชีพ”
แนวคิดหลักภายใต้แคมเปญ ตอนที่ 4 สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด

จากการศึกษาหญิงคลอดบุตรก่อนกำหนดในโครงการวิจัย พบว่า ประมาณ ร้อยละ 62 ของหญิงคลอดก่อนกำหนดให้ข้อมูลว่าไม่เคยมีความรู้เรื่องภาวะคลอดก่อนกำหนดมาก่อน และเมื่อมีอาการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด หรืออาการผิดปกติอื่นๆ มักเดินทางเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลล่าช้า ใช้เวลามากกว่าเมื่อมีอาการผิดปกติอื่น เช่น เลือดออก มีน้ำไหลออกจากช่องคลอด เป็นต้น จนมีอาการเจ็บครรภ์รุนแรงมากขึ้นจึงเข้ามารับการรักษา เป็นเหตุให้แพทย์ไม่สามารถให้การยับยั้งต่อจนสามารถตั้งครรภ์ครบกำหนดคลอด มีน้อยมากที่บอกว่ากลัวทารกเป็นอันตรายจากการคลอดก่อนกำหนด คณะผู้วิจัยจึงได้นำเสนอแนวคิดเรื่องการผลิตสื่อเพื่อป้องกันภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดสำหรับให้ประชาชน และหญิงตั้งครรภ์ได้รับทราบเพื่อนำไปใช้ป้องกันและดูแลครรภ์ตนเองต่อไป
หากมีสัญญาณเตือน ดังต่อไปนี้ ต้องรีบไปพบหมอทันที!
ท้องแข็ง ท้องปั้น ปวดบั้นเอว เจ็บหน่วงท้องน้อย
มีน้ำไหล มีเลือดออก แม้ไม่เจ็บท้อง
ร่วมกัน ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด อันตรายที่ต้องระวัง ระยะการตั้งครรภ์ที่สิ้นสุดก่อน 37 สัปดาห์ หรือที่เรียกว่า "คลอดก่อนกำหนด" ส่งผลให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญของร่างกายดังแสดงในภาพ บางรายอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ผิดปกติเมื่อโตขึ้น เช่น ปอดหัวใจแลกเปลี่ยนออกซิเจนไม่ได้ต้องช่วยหายใจ เส้นเลือดไม่บีบหลังคลอด เลือดออกในโพรงสมอง ลำไส้เน่า ช็อค ติดเชื้อรุนแรง
#การป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนดในหญิงตั้งครรภ์สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
1. ฝากครรภ์ตามนัดทุกครั้งเพื่อค้นหาความเสี่ยง
2. รับประทานอาหาร น้ำ และยาตามคำแนะนำของแพทย์
3. ควรเดินออกกำลังกายวันละ 30 นาที
4. ดูแลความสะอาดร่างกายทุกวัน
5. หลีกเลี่ยงการอาบน้ำ หรือแช่น้ำในบ่อที่มีน้ำไม่สะอาด
6. ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ
7. ไม่ควรขับรถจักรยานยนต์ หรือนั่งรถเดินทางเป็นระยะเวลานาน
8. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
9. ไม่ควรนั่งยองๆ หรือเปลี่ยนจากท่ายืนเป็นท่านั่งบ่อยครั้ง
10 .หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่กระทบบริเวณหน้าท้อง
11. ควรนอนหลับให้เพียงพอ และหาเวลาพักผ่อนระหว่างวัน
#หากพบสัญญาณเตือนให้รีบไปโรงพยาบาลทันที ไม่ควรรอให้ถึงวันนัดฝากครรภ์
1. ท้องปั้น ท้องแข็ง
2. มีน้ำใสออกทางช่องคลอด
3. มีเลือดสดออกจากทางช่องคลอด
4. มีตกขาว / เขียว / เหลือง ออกทางช่องคลอด
5. ปัสสาวะแสบคัน
6. ทารกดิ้นน้อยลง
#อันตรายจากการคลอดก่อนกำหนด ผลกระทบต่อแม่
1. เครียด
2. ซึมเศร้า
ด้วยความห่วงใย กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.พร่อน